About

This slideshow requires JavaScript.

ประวัติ

เมื่อปี พ.ศ. 2539 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ปรับปรุงระบบการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ จากวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ มาเป็นรูปแบบอาชีพ โดยเริ่มก่อตั้งฟุตบอลลีกสูงสุดขึ้น ซึ่งมีสโมสรฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขัน เริ่มแรกที่ 10 ทีม ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 12 ทีมในเวลาต่อมา โดยในปี พ.ศ. 2550 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การยุบโปรวินเชียลลีกโดยให้สโมสร 4 อันดับแรก เข้าแข่งขันในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกแทน รวมจำนวนสโมสรในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเป็น 16 ทีม พร้อมทั้งเพิ่มเงื่อนไขให้สโมสรซึ่งอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล ต้องตกชั้นไปสู่ไทยลีกดิวิชัน 1 โดยมีทีมชนะเลิศ กับอันดับ 2 และ 3 ของไทยลีกดิวิชัน 1 ขึ้นชั้นมาสู่ไทยพรีเมียร์ลีกเป็นการทดแทน ทั้งนี้ สโมสรฟุตบอลชลบุรี กลายเป็นทีมแรกซึ่งเพิ่งเข้ามาจากโปรวินเชียลลีก แล้วชนะเลิศไทยพรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ออกระเบียบว่าด้วยความเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นผลให้สมาคมฯ ต้องดำเนินการจัดตั้ง บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ขึ้นเพื่อเป็นผู้จัดการแข่งขัน ฟุตบอลลีกภายในประเทศ อย่างเป็นอาชีพที่แท้จริง โดยมีวิชิต แย้มบุญเรือง เป็นประธานกรรมการ และออกระเบียบให้ผู้บริหารสโมสรฟุตบอลอาชีพ ต้องจัดตั้งในรูปนิติบุคคล (บริษัท) เพื่อดำเนินการบริหารสโมสร ส่งผลให้มีการแข่งขันเชิงรูปแบบ การบริหารจัดการให้เป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น รวมทั้งแพร่หลายออกไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จากเดิมที่สโมสรฟุตบอลต่างๆ จะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น จึงกลับมาเป็นที่นิยมของแฟนฟุตบอลไทยอีกครั้ง โดยในฤดูกาล 2554 สมาคมฯ ประกาศเพิ่มจำนวนสโมสรที่ได้สิทธิ เลื่อนชั้นขึ้นจากลีกดิวิชัน 1 เป็นผลให้ไทยพรีเมียร์ลีก มีสโมสรที่เข้าแข่งขันรวมเป็น 18 ทีม

ชื่อรายการแข่งขัน

  • ครั้งที่ 18 (ตั้งแต่ 2556) : โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก
  • ครั้งที่ 15-17(2553–2555) : สปอนเซอร์ ไทย พรีเมียร์ ลีก (Sponsor Thai Premier League)
  • ครั้งที่ 14 (2552) : ไทย พรีเมียร์ ลีก (Thai Premier League)
  • ครั้งที่ 11-13 (2549–2551) : ไทยแลนด์ พรีเมียร์ ลีก (Thailand Premier League)
  • ครั้งที่ 9-10 (2547–2548) : ไทยลีก (Thai League)
  • ครั้งที่ 6-8 (2544–2546) : จีเอสเอ็ม ไทย ลีก (GSM Thai League)
  • ครั้งที่ 3-5 (2541–2543) : คาลเท็กซ์ ไทยแลนด์ พรีเมียร์ ลีก (Caltex Thailand Premier League)
  • ครั้งที่ 1-2 (2539–2540) : จอห์นนี วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ ซอกเกอร์ ลีก (Johnny Walker’s Thailand Soccer League)

เครือข่ายถ่ายทอดโทรทัศน์

รูปแบบการแข่งขัน

ไทยพรีเมียร์ลีก มีสโมสรฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งหมด 18 ทีม ตามปกติจะดำเนินการจัดแข่งขัน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคมของทุกปี โดยแต่ละทีมจะแข่งขันแบบพบกันหมด สองนัดเหย้าเยือนรวม 34 นัดต่อทีมต่อฤดูกาล ซึ่งในแต่ละนัด ทีมชนะจะได้ 3 คะแนน เสมอได้ 1 คะแนน แพ้ไม่ได้คะแนน ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล สโมสรที่ได้คะแนนรวมสูงสุด จะได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้สิทธิไปแข่งขันรายการเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มโดยอัตโนมัติ (กรณีสโมสรที่ชนะเลิศไทยพรีเมียร์ลีก และไทยเอฟเอคัพฤดูกาลเดียวกัน เป็นสโมสรเดียวกัน สิทธิแข่งขันเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกรอบเพลย์ออฟ ซึ่งปกติเป็นของสโมสรชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ จะตกเป็นของสโมสรที่ได้คะแนนอันดับที่ 2 ของไทยพรีเมียร์ลีกแทน) ส่วนทีมที่ได้คะแนนรองลงมา จะเรียงอันดับลดหลั่นกันตามคะแนนรวมที่ได้ โดยสามอันดับสุดท้าย จะตกชั้นสู่ไทยลีกดิวิชัน 1 และสามอันดับแรก จากไทยดิวิชัน 1 จะขึ้นชั้นมาแทน

ในกรณีที่มีทีมมากกว่า 1 ทีมขึ้นไป ได้คะแนนรวมเท่ากันเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ให้ใช้เกณฑ์พิจารณาเรียงลำดับดังนี้

  1. พิจารณาจากผลการแข่งขันของทีมที่มีคะแนนเท่ากันที่เคยแข่งกันมาในฤดูกาลที่เพิ่งจบการแข่งขัน (Head To Head)
  2. พิจารณาจากจำนวนครั้งที่ชนะ (Number of Wins) ของแต่ละทีมที่คะแนนเท่ากัน
  3. พิจารณาจากผลต่างของประตูได้ และประตูเสีย (Goals Difference)
  4. พิจารณาเฉพาะประตูได้ (Goals For)
  5. แข่งขันกันใหม่ 1 นัด เพื่อหาทีมชนะ หากผลการแข่งขันเสมอกันในเวลาปกติให้ตัดสินด้วยการเตะลูกโทษ ณ จุดเตะโทษ
  6. ในกรณีที่พิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นตามลำดับแล้วและได้เกณฑ์ตัดสินตามข้อหนึ่งข้อใดแล้วให้ยุติการพิจารณาข้อต่อไป

ในการจัดอันดับระหว่างการแข่งขัน เพื่อแสดงลำดับในตารางคะแนนระหว่างฤดูกาล ให้ใช้เกณฑ์พิจารณาดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาจากคะแนนรวมสูงสุด
  2. ถ้าคะแนนรวมเท่ากันให้พิจารณาจากผลต่างของประตูได้ ประตูเสีย
  3. ถ้ายังเท่ากันอีกให้ดูเฉพาะประตูได้
  4. ถ้ายังเท่ากันอีกให้ทำการจับฉลาก

เงินรางวัล

การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล สำหรับสโมสรฟุตบอลซึ่งได้คะแนนรวม เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลในอันดับต่างๆ ดังต่อไปนี้

อันดับที่ รางวัล
อันดับที่ 1 10,000,000 บาท
อันดับที่ 2 2,000,000 บาท
อันดับที่ 3 1,500,000 บาท
อันดับที่ 4 800,000 บาท
อันดับที่ 5 700,000 บาท
อันดับที่ 6 600,000 บาท
อันดับที่ 7 500,000 บาท
อันดับที่ 8 400,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีเงินบำรุงสโมสรที่เข้าร่วมแข่งขัน สโมสรละ 1,000,000 บาท โล่พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท สำหรับผู้จัดการทีม/หัวหน้าผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม และผู้ทำประตูสูงสุด, โล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท สำหรับสโมสรที่มีมารยาทยอดเยี่ยม, นักฟุตบอลเยาวชนผู้มีผลงานโดดเด่น และผู้เล่นยอดเยี่ยมตำแหน่งต่างๆ คือผู้รักษาประตู, กองหลัง, กองกลาง, กองหน้า

CR :: http://th.wikipedia.org/wiki/ไทยพรีเมียร์ลีก

ใส่ความเห็น